ความเป็นมาและวัตถุประสงค์
กองทุนพัฒนาชุมชนในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้าเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน
ความเป็นมา
คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ในการประชุมเมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2550 ได้มีมติเห็นชอบแนวทางและขั้นตอนการจัดตั้งกองทุนพัฒนาชุมชนในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้า ซึ่งต่อมาคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2550 เห็นชอบตามมติ กพช. ดังกล่าว
(Dowload มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2550) ต่อมา สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ได้ขอความร่วมมือจากผู้ว่าราชการจังหวัด (ใน 39 จังหวัดที่มีโรงไฟฟ้าที่มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับการไฟฟ้าตั้งแต่ 6 เมกะวัตต์ขึ้นไปตั้งอยู่) ดำเนินการจัดตั้งกองทุนพัฒนาชุมชนในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้าตามแนวทางที่คณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบ ทั่วประเทศรวมทั้งสิ้นจำนวน 75 กองทุน
วัตถุประสงค์ของการจัดตั้งกองทุนพัฒนาชุมชนในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้า
เพื่อสร้างสรรค์มิติใหม่ของการอยู่ร่วมกันระหว่างโรงไฟฟ้ากับชุมชนในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้า อันจะเป็นแนวทางการพัฒนาพลังงานอย่างยั่งยืน และเป็นแบบอย่างที่ดีสำหรับอุตสาหกรรมอื่นๆ ในอนาคตต่อไป กระทรวงพลังงานได้กำหนดให้มีการจัดตั้งกองทุนพัฒนาชุมชนในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้า โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อจัดหาเงินทุนในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนและสิ่งแวดล้อมในชุมชนพื้นที่รอบโรงไฟฟ้า ซึ่งได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างโรงไฟฟ้าหรือการผลิตไฟฟ้า
แนวทางและขั้นตอนการจัดตั้งกองทุน
โรงไฟฟ้าที่จะต้องจัดตั้งกองทุน
โรงไฟฟ้าที่ตั้งอยู่ในราชอาณาจักรและมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับการไฟฟ้าตั้งแต่ 6 เมกะวัตต์ขึ้นไป จะต้องดำเนินการจัดตั้งกองทุนเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้านั้นๆ ในกรณีที่มีหลายโรงไฟฟ้าอยู่ในบริเวณขอบเขตพื้นที่เดียวกันหรืออยู่ในนิคมอุตสาหกรรมเดียวกันให้มีเพียงกองทุนเดียว
อัตราการจ่ายเงินกองทุน
1. โรงไฟฟ้าใหม่ (โรงไฟฟ้าที่จ่ายไฟฟ้าเข้าระบบของการไฟฟ้าตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2554 เป็นต้นไป)
1.1 ระหว่างการก่อสร้าง นับตั้งแต่วันที่มีการลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้าจนถึงวันเริ่มจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (Commercial Operation Date: COD) กำหนดให้โรงไฟฟ้าต้องจ่ายเงินเข้ากองทุน ตามกำลังการผลิตติดตั้งของโรงไฟฟ้า ในอัตรา 50,000 บาท/เมกะวัตต์/ปี หรือไม่ต่ำกว่า 500,000 บาท/ปี เช่นโรงไฟฟ้าขนาด 700 เมกะวัตต์ จะต้องจ่ายเงินเข้ากองทุน ประมาณ 35 ล้านบาทต่อปี โดยให้จ่าย ณ วันที่มีการลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้าสำหรับปีแรก และวันที่ 1 มกราคม ของปีสำหรับปีต่อๆ ไป
1.2 ระหว่างการผลิตไฟฟ้า นับตั้งแต่ COD จนถึงวันที่โรงไฟฟ้าหมดอายุสัมปทาน กำหนดให้โรงไฟฟ้าจ่ายเงินเข้ากองทุน เป็นประจำทุกเดือน ตามจำนวนหน่วยพลังงานไฟฟ้าที่ขายเข้าระบบของการไฟฟ้าในอัตรา ดังนี้
อัตราการจ่ายเงินเข้ากองทุนพัฒนาชุมชนในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้าระหว่างการผลิตไฟฟ้า
เชื้อเพลิง |
สตางค์ / หน่วย |
ก๊าซธรรมชาติ |
1.0 |
น้ำมันเตา, ดีเซล |
1.5 |
ถ่านหิน, ลิกไนต์ |
2.0 |
พลังงานหมุนเวียน
- ลม และแสงอาทิตย์
- ชีวมวล กาก และเศษวัสดุเหลือใช้ ขยะชุมชน
- พลังน้ำ
|
0.0 1.0 2.0
|
ทั้งนี้ โรงไฟฟ้าใหม่ตามนโยบายการรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ (Independent Power Producer: IPP) ได้กำหนดให้อัตราการจ่ายเงินเข้ากองทุนดังกล่าวเป็นเงื่อนไขหนึ่งในเอกสารที่ใช้ในการออกประกาศเชิญชวนการรับซื้อไฟฟ้าจาก IPP สำหรับผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (Small Power Producer: SPP) และผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็กมาก (Very Small Power Producer: VSPP) ให้บวกเพิ่มจากราคาซื้อขายไฟฟ้าตามระเบียบการรับซื้อไฟฟ้า
2. โรงไฟฟ้าปัจจุบัน (โรงไฟฟ้าที่จ่ายไฟฟ้าเข้าระบบก่อนวันที่ 1 มกราคม 2554) กำหนดให้จ่ายเงินเข้ากองทุน เ
ฉพาะช่วงระหว่างการผลิตไฟฟ้าตามข้อ 1.2 เท่านั้น โดยค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นจากการจ่ายเงินเข้ากองทุน
ให้โรงไฟฟ้าสามารถส่งผ่านค่าไฟฟ้าตามสูตรการปรับอัตราค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ (Ft)
การเก็บเงินเข้ากองทุน
ให้เริ่มเก็บเงินเข้ากองทุน ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2550
แต่ในช่วงที่ยังไม่ได้มีการจัดตั้งกองทุน ให้ กฟผ. เป็นผู้เก็บรักษาเงินกองทุนไปก่อนจนกว่าจะมีการจัดตั้งกองทุนแล้วเสร็จ
คณะกรรมการบริหารกองทุน
เพื่อให้การใช้จ่ายเงินกองทุน เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งกองทุน จึงกำหนดให้มีคณะกรรมการในลักษณะพหุภาคี เป็นผู้บริหารกองทุน ซึ่งประกอบด้วย
- ผู้แทนจากภาคประชาชน จำนวนมากกว่าครึ่งหนึ่งของกรรมการทั้งหมด
- ผู้แทนภาครัฐ ซึ่งแต่งตั้งโดยผู้ว่าราชการจังหวัด
- ผู้แทนจากโรงไฟฟ้า
- ผู้ทรงคุณวุฒ
ทั้งนี้ การสรรหากรรมการผู้แทนภาคประชาชนให้มุ่งเน้นกระบวนการการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้าเป็นหลัก
การใช้จ่ายเงินจากกองทุน
การใช้จ่ายเงินกองทุนต้องเป็นไปเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนและสิ่งแวดล้อมในชุมชนพื้นที่รอบโรงไฟฟ้าเพื่อให้มีการพัฒนาที่ยั่งยืน ทั้งนี้ชุมชนสามารถนำเงินกองทุนไปใช้ในเรื่องต่างๆ ดังนี้
- การพัฒนาอาชีพ
- การสนับสนุนการศึกษา ศาสนา วัฒนธรรม ประเพณี กีฬาและดนตรี
- การสนับสนุนการสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม
- การพัฒนาคุณภาพชีวิต
- การบรรเทาความเสียหายในเบื้องต้นจากผลกระทบที่มีสาเหตุมาจากโรงไฟฟ้า
- การพัฒนาพลังงานหมุนเวียน
- การจัดทำผังเมืองรวมชุมชน
- การจัดทำแผนการพัฒนาชุมชนในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้า
- การสนับสนุนค่าใช้จ่ายหรือค่าตอบแทนในการปฏิบัติงานของคณะกรรมการบริหารกองทุน
- อื่นๆ ตามที่คณะกรรมการบริหารกองทุน เห็นสมควร
การกำหนดพื้นที่รอบโรงไฟฟ้า
พื้นที่รอบโรงไฟฟ้าแบ่งออกเป็นพื้นที่ชั้นใน ได้แก่ตำบลในรัศมี 5 กิโลเมตร จากขอบเขตของโรงไฟฟ้าหรือนิคมอุตสาหกรรมที่โรงไฟฟ้าตั้งอยู่ และพื้นที่ชั้นนอก ซึ่งเป็นพื้นที่ที่อยู่นอกเหนือพื้นที่ชั้นใน โดยในระยะเริ่มแรกให้ขึ้นอยู่กับการพิจารณาร่วมกันระหว่างผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ ผู้แทนโรงไฟฟ้า และผู้แทนกระทรวงพลังงาน และเมื่อการแต่งตั้งคณะกรรมการฯ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว คณะกรรมการฯ สามารถพิจารณาปรับปรุงได้ตามความเหมาะสม ทั้งนี้การกำหนดพื้นรอบโรงไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าพลังน้ำให้คำนึงถึงผู้ได้รับผลกระทบจากโรงไฟฟ้าพลังน้ำทั้งเหนือเขื่อนและท้ายเขื่อนด้วย
การตรวจสอบกองทุน
กระทรวงพลังงานจะแต่งตั้งคณะอนุกรรมการติดตามและประเมินผลการดำเนินงานกองทุนพัฒนาชุมชนในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้าภายใต้คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน ในการติดตามและประเมินการดำเนินงานของกองทุน จะเปิดโอกาสให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการตรวจสอบดำเนินงานของคณะกรรมการบริหารกองทุน นอกจากนี้ตาม “แนวทางการจัดตั้งกองทุนพัฒนาชุมชนในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้า” ในข้อ 18-21 ได้กำหนดให้กองทุนมีการจัดทำบัญชี รายงานการเงินและรายงานสรุปผลการดำเนินงานประจำปีเสนอต่อคณะอนุกรรมการติดตามและประเมินผลการดำเนินงานกองทุนพัฒนาชุมชนในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้า และเผยแพร่ต่อชุมชนในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้าและสาธารณชนโดยทั่วไป